Negrín López, Juan (1894-1956)

นายควน เนกรีน โลเปซ (๒๔๓๖-๒๔๙๙)

​​

     ควน เนกรีน โลเปซเป็นนายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐที่ ๒ แห่งสเปนระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๗-๑๙๓๙ เป็นนักเขียนและศาสตราจารย์สาขาวิชาสรีรวิทยาประจำ มหาวิทยาลัยมาดริดใน ค.ศ. ๑๙๒๙ เขาเข้าสู่การเมืองโดยเข้าเป็นสมาชิกพรรคสังคมนิยมซึ่งมีอินดาเลเซียว เปรียโต (Indalecio Prieto ค.ศ. ๑๘๘๓-๑๙๖๒)* เป็นผู้นำ และต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๓๑ ก็ได้รับเลือกเป็นผู้แทนจากกรุงมาดริดเข้าสู่สภา ใน ค.ศ. ๑๙๓๖ เขาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในคณะรัฐบาล ของมานูเอล อาซานา (Manuel Azana)* และในช่วงระหว่าง สงครามกลางเมืองสเปน (Spanish Civil War ค.ศ. ๑๙๓๖-๑๙๓๙)* เขาได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีแทนฟรันซิสโก ลาร์โก กาบาเยโร (Francisco LargoCaballero) ซึ่งถูกปลด ต่อมาเมื่อนายพลฟรันซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco ค.ศ. ๑๘๙๒-๑๙๗๕)* ยึดอำนาจทางการเมืองได้สำเร็จใน ค.ศ. ๑๙๓๙ เนกรีนหนีออกนอกประเทศและจัดตั้งรัฐบาลสเปนพลัดถิ่นขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศส
     เนกรีนเกิดเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๙๔ ที่ลัสปัลมัส (Las Palmas) หมู่เกาะคะเนรี (Canary) ในครอบครัวนักธุรกิจที่มั่งคั่ง เขาศึกษาวิชาแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยหลายแห่งในเยอรมนีและสำเร็จการศึกษาที่มหาวิทยาลัยไลพ์ซิก (Leipzig) ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* จากนั้นเขาสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยมาดริด และใน ค.ศ. ๑๙๒๓ ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์สาขาวิชาสรีรวิทยานอกจากสอนหนังสือแล้ว เขายังเขียนบทความวิชาการและบทความทั่วไปเกี่ยวกับปัญหาสังคมเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ El Sol และวารสาร Revista de Occidente ซึ่งทำให้เขามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ใน ค.ศ. ๑๙๒๙ เขาสมัครเป็นสมาชิกพรรคสังคมนิยม และได้รับเลือก เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ. ๑๙๓๑, ๑๙๓๓ และ ๑๙๓๖ เนกรีนสนับสนุนอินดาเลเซียว เปรียโต ผู้นำกลุ่มสายกลางของพรรคสังคมนิยมที่มีนโยบายสร้างสวัสดิการทางสังคม
     ในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๖ กลุ่มพันธมิตรการเมืองฝ่ายซ้ายซึ่งประกอบด้วย พรรคสังคมนิยม พรรคคอมมิวนิสต์ พรรคเอสเกร์รา (Esquerra Party) และพรรคยูเนียนริพับลิกัน (Republican Union Party) มีชัยชนะในการเลือกตั้งโดยได้คะแนนเสียง ๒๖๓ จาก ๔๗๓ เสียง กลุ่มพรรคการเมืองเหล่านี้จึงจัดตั้งรัฐบาลผสมฝ่ายซ้ายขึ้นบริหารประเทศโดยมีอาซานาเป็นประธานาธิบดี รัฐบาลผสมฝ่ายซ้ายได้ดำเนินนโยบายหลายอย่างที่สร้างความไม่พอใจอย่างมากแก่กลุ่มอนุรักษนิยมและผู้นำทางทหาร เช่น การปล่อยตัวนักโทษการเมืองฝ่ายซ้าย การปฏิรูปที่ดิน การโอนย้ายนายทหารที่มีความคิดขวาจัด เช่น นายพลฟรังโกไปประจำการนอกประเทศ การประกาศให้พรรคฟาลันเกเอสปาโญลา (Falange Española) เป็นพรรคนอกกฎหมาย และการให้อิสระในการปกครองตนเองแก่กาตาโลเนีย (Catalonia) เป็นต้น ดังนั้น กลุ่มอนุรักษ์นิยมจึงร่วมมือกับผู้นำทหารบก เช่น เอมีเลียว โมลา (Emilio Mola) ฟรังโก และโคเซ ซันคูร์โค (José Sanjurjo) วางแผนโค่นรัฐบาลผสมฝ่ายซ้าย การปะทะกันระหว่างกองกำลังฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายสาธารณรัฐกับฝ่ายอนุรักษนิยมหรือฝ่ายชาตินิยมเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ และลุกลามเป็นสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อถึง ๓ ปี
     เมื่อสงครามกลางเมืองเกิดขึ้นนั้นกองทัพฝ่ายรัฐบาลมีกำลังพลมากกว่าฝ่ายชาตินิยมถึง ๑ ใน ๓ แต่เมื่อทหารบกของสเปนที่ประจำการอยู่ในทวีปแอฟริกาเดินทางถึงสเปนเพื่อช่วยเหลือฝ่ายชาตินิยมก็ทำให้กำลังพลของทั้ง ๒ ฝ่ายมีจำนวนใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ ทั้ง ๒ ฝ่ายยังได้รับความช่วยเหลือทางการทหารจากต่าง ประเทศด้วย ฝ่ายสาธารณรัฐได้รับความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียตและกองพลนานาชาติ (International Brigades) ซึ่งเป็นทหารอาสาสมัครที่นิยมซ้ายและต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism)* จากหลายประเทศ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา อิตาลี และเยอรมนี ส่วนฝ่ายชาตินิยมได้รับการสนับสนุนด้านกำลังพลและอาวุธจากรัฐบาลเยอรมันและอิตาลี กองทัพชาตินิยมพยายามที่จะยึดกรุงมาดริดซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐบาลสาธารณรัฐให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ จึงมีการทิ้งระเบิดกรุงมาดริดตั้งแต่วันที่ ๒๘ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ และในต้นเดือนพฤศจิกายนก็สามารถยึดบางส่วนของชานกรุงมาดริดได้ รัฐบาลสาธารณรัฐต้องย้ายไปยังเมืองบาเลนเซีย (Valencia) เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน และแต่งตั้งให้นายพลโคเซ เมียคา (Jose Miaja) เป็นผู้บังคับบัญชากองทัพรัฐบาลเพื่อป้องกันกรุงมาดริดโดยมีกองพล นานาชาติช่วยร่วมรบด้วย ส่วนฝ่ายชาตินิยมยอมให้นายพลฟรังโกเป็นผู้นำกองทัพและหัวหน้ารัฐบาลในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๖
     ระหว่างเดือนกันยายนถึงตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ เนกรีนซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้โอนทองคำสำรองของประเทศซึ่งมีมูลค่าประมาณ ๕๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐไปฝากธนาคารในสหภาพโซเวียตการดำเนินการดังกล่าวทำให้เขาถูกวิพากษ์โจมตีอย่างมากและทำให้เข้าใจกันว่ารัฐบาลสาธารณรัฐตกอยู่ใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียต ขณะเดียวกันเขาก็เริ่มขัดแย้งกับนายกรัฐมนตรีกาบาเยโรซึ่งดำเนินนโยบายควบคู่กัน ๒ ด้านคือ การต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์และการเป็นสังคมนิยม กาบาเยโรยังดำเนินนโยบายหลายอย่างที่ทำให้พันธมิตรฝ่ายซ้ายไม่พอใจ เช่น การนำระบบและกฎระเบียบของทหารมาบังคับใช้กับกองกำลังติดอาวุธของฝ่ายซ้าย การไม่ยอมเลื่อนตำแหน่งในรัฐบาลให้แก่สมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์และปราบปรามพรรคแรงงาน (Worker’s Party - POUM) ตามที่พรรคคอมมิวนิสต์เรียกร้อง นอกจากนี้ กาบาเยโรยังเป็นผู้จุดชนวนการจลาจลที่เมืองบาร์เซโลนา (Barcelona) ในเหตุการณ์ที่เรียกว่า การจลาจลเดือนพฤษภาคม (May Riots) ใน ค.ศ. ๑๙๓๗ ด้วย
     การจลาจลเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ เป็นผลสืบเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายกลุ่มต่าง ๆ ที่เมืองบาร์เซโลนา รัฐบาลสั่งให้หน่วยตำรวจปราบจลาจลเข้าควบคุมศูนย์โทรคมนาคมซึ่งกลุ่มสมาพันธ์แรงงานแห่งชาติหรือซีเอ็นที (National Confederation of Trabajo - CNT) ดูแลซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่สมาชิกกลุ่มอย่างมาก กลุ่มซีเอ็นทีและพันธมิตรเข้าใจว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นแผนของฝ่ายตรงข้ามที่ต้องการโค่นอำนาจ จึงเคลื่อนไหวตอบโต้และสร้างแนวป้องกันการโจมตีรอบเมืองบาร์เซโลนาซึ่งนำไปสู่การปะทะกันอย่างรุนแรง เนกรีนและรัฐมนตรีจากพรรคคอมมิวนิสต์อีก ๒ คนเรียกร้องให้กาบาเยโรควบคุมสถานการณ์โดยเร็ว แต่เขาไม่ได้ดำเนินการในทันที และเปิดโอกาสให้ตำรวจปราบจลาจลกว่า ๖,๐๐๐ นายที่เดินทางมาจากเมืองบาเลนเซียเข้าควบคุมสถานการณ์ได้สำเร็จในเวลาต่อมา การจลาจลครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตประมาณ ๔๐๐ คน และในช่วงเกิดเหตุการณ์ผู้นำกลุ่มอนาธิปไตยหลายคนถูกลอบสังหารที่บ้านพักด้วย
     เหตุการณ์จลาจลครั้งนี้ทำลายชื่อเสียงและความ เป็นเอกภาพของรัฐบาลผสมฝ่ายซ้ายมาก เนกรีนและรัฐมนตรีจากพรรคคอมมิวนิสต์วิพากษ์วิจารณ์การจัดการแก้ปัญหาของกาบาเยโรอย่างรุนแรงว่าไม่มีประสิทธิภาพจนทำให้มีการเสียชีวิตมาก ดังนั้นในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ ประธานาธิบดีอาซานาจึงตัดสินใจปลดกาบาเยโรออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและแต่งตั้งเนกรีนให้ดำรงตำแหน่งแทน รัฐบาลชุดใหม่นี้ยังคงเป็นรัฐบาลผสมฝ่ายซ้ายเช่นเดิมแต่มีการลดตำแหน่งรัฐมนตรีลงจาก ๑๕ ตำแหน่งเหลือเพียง ๙ ตำแหน่งโดยรัฐมนตรีจากพรรคคอมมิวนิสต์ยังคงมีจำนวน ๒ คน เท่าเดิม ส่วนรัฐมนตรีจากพรรคสังคมนิยมลดจำนวนจาก ๖ คนเหลือเพียง ๓ คน แต่การที่เนกรีนไม่ยอมแต่งตั้งให้เดล บาโย (Del Vayo) ผู้นำคนสำคัญคนหนึ่งของพรรคสังคมนิยมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐบาลของเขาจึงไม่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพแรงงานกลุ่มสังคมนิยม และกลุ่มซีเอ็นทีซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้นิยมลัทธิอนาธิปไตยและสังคมนิยม อย่างไรก็ตาม พรรคคอมมิวนิสต์ก็สนับสนุนเนกรีนเพราะเขาแต่งตั้งสมาชิกของพรรคให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ทั้งด้านทหารและพลเรือนรวมทั้งให้ดูแลการโฆษณาชวนเชื่อ การเงิน และการต่างประเทศด้วยการสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ดังกล่าวทำให้โจเซฟ สตาลิน (Josepf Stalin ค.ศ. ๑๘๗๙-๑๙๕๓)* ผู้นำสหภาพโซเวียตมีบทบาทและอิทธิพลทางอ้อมต่อรัฐบาลสาธารณรัฐมากยิ่งขึ้น
     ในด้านการทหารนั้น เนกรีนรวบอำนาจในการบังคับบัญชากองทัพอากาศ กองทัพบก และกองทัพเรือไว้ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่เพียงผู้เดียวและในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๓๘ เขาก็ได้ดำรงตำแหน่งนี้ นอกจากนี้ เขายังให้นำกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มอนาธิปไตยมาอยู่ใต้การควบคุมของกองทัพรัฐบาลด้วย ในตอนแรกกลุ่มอนาธิปไตยปฏิเสธและพยายามจะคงความเป็นเอกเทศไว้ แต่ท้ายที่สุดก็ต้องยินยอมเพราะรัฐบาลบังคับด้วยการจ่ายเงินและอาวุธให้เฉพาะกลุ่มที่ยอมอยู่ภายใต้ระบบกองทัพของรัฐบาลเท่านั้น ส่วนทางด้านเศรษฐกิจ เนกรีนพยายามแสวงหาการสนับสนุนจากรัฐบาลของประเทศตะวันตกด้วย
     การประกาศแผนที่รัฐบาลจะผ่อนคลายการควบคุมอุตสาหกรรมของประเทศ โดยจัดพิมพ์แผนการ ๑๓ ข้อออกเผยแพร่เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๘ ซึ่งมีการระบุถึงการรับรองสิทธิพื้นฐานของชาวสเปนรวมถึงสิทธิทางการเมืองแสะเสรีภาพในการนับถือศาสนาด้วย ประธานาธิบดีอาซานาไม่เห็นด้วยกับนโยบายบริหารประเทศของเนกรีนหลายประเด็นและพยายามจะปลดเขาออกจากตำแหน่งในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๘ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะอาซานาไม่ได้มีอำนาจมากเหมือนเดิมและเนกรีนก็ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งในรัฐบาลและกองทัพ
     ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๓๘ กองทัพชาตินิยมสามารถฝ่าด่านกองทัพสาธารณรัฐไปจนถึงชายฝั่งทะเลได้สำเร็จ นายพลฟรังโกจึงสั่งการให้กองทัพชาตินิยมมุ่งโจมตีเมืองบาเลนเซียโดยมีเป้าหมายปิดล้อมกรุงมาดริดเนกรีนจึงสั่งให้กองกำลังทหารสาธารณรัฐและทหารกองพลนานาชาติกว่า ๘๐,๐๐๐ คนข้ามแม่น้ำเอโบร (Ebro) ในวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ เพื่อไปโจมตีกองทัพชาตินิยมซึ่งนำไปสู่ยุทธการที่เอโบร (Battle of Ebro) ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๗ การต่อสู้ครั้งนี้สร้างความสูญเสียให้ทั้ง ๒ ฝ่ายมากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มสงครามกลางเมืองมา ในกลาง ค.ศ. ๑๙๓๘ สตาลินสั่งระงับความช่วยเหลือที่ให้แก่ รัฐบาลสาธารณรัฐซึ่งทำให้กองทัพสาธารณรัฐประสบปัญหามากขึ้น เนกรีนจึงพยายามเป็นครั้งสุดท้ายที่จะกดดันให้อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler ค.ศ. ๑๘๘๙-๑๙๔๕)* ผู้นำเยอรมนีและเบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini ค.ศ. ๑๘๘๓-๑๙๔๕)* ผู้นำอิตาลีถอนกองทัพออกจากสเปนด้วยการสั่งให้ถอนกองพลนานาชาติทั้งหมดออกจากสเปนในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๘ แต่แผนของเนกรีนไม่ได้ผลเพราะกองทัพของทั้ง ๒ ประเทศยังคงอยู่ในสเปนและสนับสนุนฝ่ายชาตินิยมทำสงครามต่อไป กองทัพชาตินิยมสามารถยึดเมืองบาร์เซโลนาได้สำเร็จเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ค.ศ. ๑๙๓๙ ส่งผลให้ประธานาธิบดีอาซานาและรัฐบาลสาธารณรัฐจำต้องย้ายไปยังเมืองเปเรลาดา (Perelada) ซึ่งอยู่ใกล้กับชายแดนฝรั่งเศส แต่เมื่อกองทัพของนายพลฟรังโกยังสามารถรุกคืบหน้าและเอาชนะกองทัพสาธารณรัฐได้มากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ยึดเมืองกาตาโลเนียได้ในวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๙ ประธานาธิบดีอาซานาและคณะรัฐบาลจึงลี้ภัยไปอยู่ที่ฝรั่งเศส ก่อนการหลบหนีเนกรีนได้แต่งตั้งอันโตเนียว กอร์ดอน (Antonio Cordon) และควน โมเดสโต (Juan Modesto) ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีทั้งเลื่อนตำแหน่งใน กองทัพบกจากจำนวน ๗,๐๐๐ ตำแหน่งให้แก่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ถึง ๕,๐๐๐ ตำแหน่ง การดำเนินการดังกล่าวได้นำไปสู่ความขัดแย้งกับกลุ่มที่ต่อต้านเขาจนเกิดการต่อสู้กันขึ้น ต่อมาเมื่อเนวิลล์ แชมเบอร์เลน (Neville Chamberlain ค.ศ. ๑๘๖๙-๑๙๔๐)* นายกรัฐมนตรีอังกฤษประกาศรับรองรัฐบาลชาตินิยมของนายพลฟรังโกในวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๙ ประธานาธิบดีอาซานาซึ่งไม่ต้องการให้ชาวสเปนต้องต่อสู้กันเองอีกต่อไปจึงประกาศลาออกจากตำแหน่งและยอมรับความพ่ายแพ้ในวันเดียวกันนั้นเอง
     ในปลายเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ กองทัพของนายพลฟรังโกก็สามารถยึดกรุงมาดริดได้เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม และในวันที่ ๓๑ มีนาคมฟรังโกก็ประกาศว่าสงครามกลางเมืองสเปนได้สิ้นสุดลง เขาเป็นผู้นำประเทศคนใหม่และปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหารการก้าวสู่อำนาจของฟรังโกจึงปิดโอกาสที่เนกรีนจะกลับมามีบทบาททางการเมือง เมื่อเยอรมนีบุกฝรั่งเศส ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ ซึ่งนำไปสู่ยุทธการที่ฝรั่งเศส (Battle of France)* และสามารถยึดครองดินแดนส่วนใหญ่ของฝรั่งเศสรวมทั้งกรุงปารีสไว้ได้ เนกรีนลี้ภัยไปอยู่ที่อังกฤษและพำนักที่นั่นจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* สิ้นสุดลง เขาเดินทางกลับมา ฝรั่งเศสอีกครั้งใน ค.ศ. ๑๙๔๕ และพำนักอยู่ที่กรุงปารีสจนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๕๖ รวมอายุ ๖๒ ปี.



คำตั้ง
Negrín López, Juan
คำเทียบ
นายควน เนกรีน โลเปซ
คำสำคัญ
- ลัทธิฟาสซิสต์
- พรรคแรงงาน
- เมียคา, โคเซ
- โมลา, เอมีเลียว
- พรรคฟาลันเกเอสปาโญลา
- บาเลนเซีย, เมือง
- ซันคูร์โค, โคเซ
- กาตาโลเนีย
- การจลาจลเดือนพฤษภาคม
- การจลาจลที่เมืองบาร์เซโลนา
- กองพลนานาชาติ
- กลุ่มสมาพันธ์แรงงานแห่งชาติ
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- อาซานา, มานูเอล
- พรรคเอสเกร์รา
- สงครามกลางเมืองสเปน
- พรรคยูเนียนริพับลิกัน
- ฟรังโก, ฟรันซิสโก
- เดล บาโย
- คะแนรี, หมู่เกาะ
- เนกรีน โลเปซ, ควน
- เปรียโต, อินดาเลเซียว
- กาบาเยโร, ฟรันซิสโก ลาร์โก
- สตาลิน, โจเซฟ
- ยุทธการที่เอโบร
- เอโบร, แม่น้ำ
- กอร์ดอน, อันโตเนียว
- เชมเบอร์เลน, เนวิลล์
- เปเรลาดา, เมือง
- มุสโสลีนี, เบนีโต
- ยุทธการที่ฝรั่งเศส
- โมเดสโต, ควน
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1894-1956
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๓๖-๒๔๙๙
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สุธีรา อภิญญาเวศพร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 6.N 577-752.pdf